ปี่ภูไท

   

ปี่ภูไท หรือ ปี่ลูกแคน เป็นเครื่องดนตรีของชนเผ่าภูไทจังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม อุดรธานี มุกดาหาร ในภาคอีสานของประเทศไทย และในแขวงสุวรรณเขต แขวงเชียงขวาง และแขวงคำม่วนในประเทศลาว ส่วนใหญ่ปี่ชนิดนี้เริ่มจะหายไปแล้ว เพราะไม้ไผ่ลูกแคนหรือไม้ไผ่เฮี้ยเริ่มหายาก เพราะมีไม่มากเหมือนสมัยก่อน ปี่ภูไทมีลักษณะคล้ายปี่จุมของภาคเหนือ เพราะมีลิ้นที่ทำจากโลหะจำพวก ทอง ทองแดง เงิน และมีเสียง วิธีการเป่าที่คล้ายกัน ปี่ภูไท ใช้บรรเลงกับเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆได้ เช่น แคน พิณ ซอ ปัจจุบันมีปราชญ์ชาวบ้านผู้เชี่ยวชาญ 1 ท่าน อยู่ที่บ้านกุดหว้า ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ คือ คุณพ่อเมฆ ศรีกำพล ศิลปินมรดกอีสาน สาขาปี่ภูไท มหาวิทยาลัยขอนแก่น

วิธีการทำปี่ภูไท

วิธีการทำปี่ภูไทมี 4 ขั้นตอน ดังนี้

  1. ตัดไม้ไผ่ลูกแคนให้มีความยาวเท่ากับ 1 ปล้อง และเจาะรูสี่เหลี่ยมผืนผ้าไว้สอดลิ้น
  2. สอดลิ้นปี่ (ลิ้นปี่ตามขนาดของปี่) เข้าไปในรูสี่เหลี่ยมผืนผ้าและนำเปลือกหอยทะเลฝนกับหินผสมน้ำมาทาที่ลิ้น
  3. เจาะรูชนิดพิเศษให้ห่างจากลิ้น 8-10 เซนติเมตร เรียกว่า รูเยี่อซึ่งทำมาจากขี้สูด (ชันโรง) และเยื่อพลาสติกหรือเยื่อไผ่ ซึ่งมีหน้าที่ตกแต่งเสียงให้เกิดความไพเราะพริ้วไหว
  4. เจาะรูนับห่างจากรูเยื่อ 3-5 เซนติเมตร เจาะ 5-6 รู (ตามคีย์ของปี่ ปี่ใหญ่เจาะ 6 รู ปี่เล็ก 5 รู)